Friday, 17 May 2024

เงินชดเชยตามกฎหมาย (Legal Severance Pay) คือ เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง นอกเหนือไปจากเงินประเภทอื่นที่นายจ้างตกลงจ่ายให้ลูกจ้าง ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างหรือถูกให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจ และไม่มีความผิดใด ๆ (เลิกจ้าง หมดสัญญาจ้าง เลิกกิจการ และเกษียณอายุ) โดยเงินชดเชยที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับเงินเดือนและอายุงาน

เงินค่าชดเชยที่นายจ้างจะต้องชดเชย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ และตามกฎหมายลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย ดังนี้

1. ค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างกรณีทั่วไป

หากลูกจ้างทำงานมายังไม่ถึง 120 วัน

นายจ้างจะไม่จ่ายค่าชดเชยก็ได้•

.

หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 120 วัน – 1 ปี

นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 30 วัน ในอัตราสุดท้าย•

.

หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 1 – 3 ปี

นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 90 วัน ในอัตราสุดท้าย•

.

หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 3 – 6 ปี

นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 180 วัน ในอัตราสุดท้าย•

.

หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 6 – 10 ปี

นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 240 วัน ในอัตราสุดท้าย•

.

หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 10 – 20 ปี

นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 300 วัน ในอัตราสุดท้าย•

.

หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 20 ปีขึ้นไป

นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 400 วัน ในอัตราสุดท้าย

.

2. ค่าเสียหายจากการไม่บอกกล่าวล่วงหน้า•

ค่าเสียหายนี้เกิดในกรณีหากนายจ้าง “ไล่ออก” ทันทีโดยไม่บอกล่วงหน้า ถือว่า นายจ้างทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน นอกจากจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามกรณีเลิกจ้างทั่วไป ตามข้อ 1 แล้ว (มาตรา 118) ยังต้องจ่ายค่าเสียหายจากการไม่บอกกล่าวล่วงหน้าด้วย ตามมาตรา 17/1 เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างในอัตราที่ลูกจ้างได้รับอยู่อัตราสุดท้าย คิดเต็มจำนวนเสมือนหนึ่งว่านายจ้างได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้เตรียมตัวก่อนออกจากงาน แต่ค่าเสียหายจำนวนนี้จะคิดอย่างมากที่สุด ไม่เกินค่าจ้างสามเดือน