Thursday, 16 May 2024

มนัส โกศล” ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) วิเคราะห์แจกแจงวิธีปลดล็อค 13 โรคยกเว้นที่ไม่สามารถเบิกตามสิทธิประกันสังคม

 “มนัส โกศล” ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) วิเคราะห์แจกแจงวิธีปลดล็อค 13 โรคยกเว้นที่ไม่สามารถเบิกตามสิทธิประกันสังคม       กลุ่มที่ควรปรับปรุงให้สิทธิประโยชน์เพิ่มมี 9 ข้อ ได้แก่ “1 โรคหรือการประสบอันตรายอันเนื่องจากการใช้สารเสพเสพติด” เนื่องจากสังคมไทยควรให้โอกาสผู้หลงผิดเข้าสู่วงจรยาเสพติด เช่นถ้ามีคนเสพยาบ้าแล้วไปขับรถเกิดอุบัติเหต ควรจ่ายค่าเยียวยารักษาตามสิทธิที่เขาควรได้รับในฐานะเป็นสมาชิกผู้ประกันตน  เพราะการติดยาเสพติดเกิดจากหลายสาเหตุ อาจถูกหลอกหรือถูกมอมเมาก็เป็นได้

            “2  กรณีรักษาโรคไตวาย” ปัจจุบันจ่ายให้เฉพาะกรณีโรคไตวายระยะสุดท้าย เช่น ฟอกเลือด ล้างช่องท้อง หรือปลูกถ่ายไตตามเงื่อนไขที่กำหนด ตามหลักการแล้วควรรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นไม่ควรต้องรอถึงระยะสุดท้ายจึงช่วยเหลือ  ต้องปลดล็อคตรงนี้และควรสนับสนุนให้ตรวจสุขภาพไตทุกปีด้วย

             “3 เรื่องการรักษาภาวะมีบุตรยาก และ 4 การผสมเทียม”  สามารถรวมเป็นเรื่องเดียวกันได้ และสปส.ควรสนับสนุน เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมคนชรา รัฐบาลกำลังผลักดันนโยบาย “เพิ่มประชากร” หากใครมีลูกยากแล้วอยากมีควรสนับสนุนอย่างเต็มที่

             “5  การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ และ 6 การตรวจเนื้อเยื่อเพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ” ควรให้แพทย์พิจารณาตามความเป็นจริงว่ามีความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะหรือไม่ การห้ามไม่ให้เบิกจ่าย อาจทำให้การรักษาผู้ป่วยทำได้ไม่เต็มที่ ควรศึกษาเพิ่มเติมว่าสิทธิของบัตรทองเป็นอย่างไร เพื่อเปรียบเทียบในรายละเอียดต่าง ๆ

            “7 ทันตกรรม” ไม่ควรมีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้ประกันตนต้องมีสิทธิได้รับค่าบริการทำฟันทุกอย่างเท่าที่จ่ายจริง เพราะตอนนี้เบิกได้ไม่เกิน 900 บาทต่อปี การที่ไม่ให้เบิกค่าทำฟันตามความจำเป็น อาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้ในอนาคต เช่น กรณีของผู้ป่วยฟันผุแล้วไม่รักษา ทำให้อาการเรื้อรังจนอาจกลายเป็นสาเหตของโรคมะเร็งในช่องปาก

           “8 การบริการระหว่างรักษาตัวแบบพักฟื้น” สปส.ควรจัดให้มีศูนย์บำบัดหรือพักฟื้นของตนเอง เพื่อรองรับผู้ป่วยทุพพลภาพ เพราะตามกฎหมายใหม่หากร่างกายทุพพลภาพเกินร้อยละ 35 -50  สามารถเบิกค่ารักษาตัวแบบพักฟื้นได้ และ มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างรายวัน ระยะเวลาไม่เกิน 180 เดือน ถ้าสูญเสียสมรรถภาพของร่างกายเกินร้อยละ 50 ได้เงินทดแทนกขาดรายได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างตลอดชีวิต

          “9 การตรวจใดๆ ที่เกินกว่าความจำเป็นในการรักษาโรค”  ข้อนี้ควรเอาออกเพราะการรักษาต้องเป็นไปตามที่แพทย์วินิจฉัย ถ้าหมออยากให้ “ฉายแสง” “เอ็กซเรย์” ”ฉีดสี” ฯลฯ ก็ควรให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจอย่างเต็มที่ ไม่ควรเปิดช่องให้ไปพิจารณาว่าเกินความจำเป็นในการรักษาโรคหรือไม่ เพราะหมออาจไม่กล้ารักษาเต็มที่ เพราะกลัวเบิกจ่ายไม่ได้หรือถูกตำหนิจากผู้บริหารโรงพยาบาล

        “10 แว่นตา” นับเป็นเรื่องประหลาดมากที่ สปส.ไม่ให้คนสายตาสั้นหรือสายตายาวเบิกค่าแว่นตา ทั้งที่คนหูตึงยังอนุญาตให้เบิกค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ช่วยฟังได้ ส่วนบัตรทองมีโปรโมชั่นแจกแว่นตาฟรี เพราะฉะนั้นข้อนี้ควรปลดล็อคให้แพทย์สั่งจ่ายกรอบแว่นตาและเลนส์สายตาได้ตามความเหมาะสม

         ส่วนที่เหลืออีก 3 ข้อนั้น ได้แก่ 1 การกระทำใดๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ 2  การเปลี่ยนเพศ และ 3การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลอง นายมนัสแสดงความเห็นว่าอาจยังต้องคงไว้เหมือนเดิม เพราะการกระทำเพื่อความสวยงารและการเปลี่ยนเพศอาจทำให้เงินกองทุนหมดไปอย่างรวดเร็วและไม่ถือว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการรักษาเหมือนโรคอื่น ๆ ในอนาคตหากมีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นอาจขยายสิทธิส่วนนี้ได้ และการรักษาที่ยังอยู่ในขั้นทดลองก็เห็นด้วยว่าควรยกเว้นต่อไป